Thursday, March 27, 2014

แนะนำวิธีการตรวจเอดส์ ตรวจหาเชื้อ HIV

     หลังจากบทความที่แล้วหมอได้เล่าถึงอาการแสดงระยะต่างๆของโรคเอดส์ จนหลายคนเริ่มหวั่นวิตก กังวลกับอาการต่างๆนาๆ บางคนเริ่มคิดย้อนกลับไป เอ๊ะ! เราเคยเป็นแบบนั้นรึเปล่า วันนี้หมอจะมาแนะนำเกี่ยวกับวิธีการตรวจหาเชื้อเอดส์ หรือเชื้อ HIV กันค่ะ

    การตรวจหาเชื้อเอดส์หรือ HIV ควรตรวจเมื่อคุณมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มิใช่คู่ครอง หรือคุณเองมีอาชีพในการให้บริการทางเพศ เคยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หรือเมื่อคู่นอนของคุณติดเชื้อ HIV

ในการตรวจหาเชื้อ HIV ควรรอประมาณ 1-3 เดือนหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งจะได้ผลที่แน่นอนกว่า และระหว่างนั้นหากจะมีเพศสัมพันธ์ก็ควรป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

แนะนำวิธีการตรวจเอดส์ ตรวจหาเชื้อ HIV

ขั้นตอนในการตรวจหาเชื้อ HIV อันดับแรกจะเป็นการตรวจขั้นต้น ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ราคาถูกและได้ผลเร็ว แต่หากผลการตรวจขั้นต้นมีผลเลือดเป็นบวก คุณก็สามารถที่จะตรวจยืนยันผลได้อีกครั้งหนึ่งด้วยวิธีที่ซับซ้อนกว่า และใช้เวลานานกว่าจึงจะรู้ผล แต่จะได้รับผลที่ค่อนข้างแน่นอน

การตรวจหาเชื้อเอดส์หรือ HIV สามารถรับบริการได้ที่คลินิกนิรนาม และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง หากคุณกังวลกับการตรวจเลือดหาเอดส์ ทางสถานพยาบาลต่าง ๆ จะมีเจ้าหน้าที่คอดให้คำปรึกษาแก่คุณ และที่สำคัญผลการตรวจของคุณจะเป็นความลับแน่นอน

และปัจจุบันก็พบว่า มีชุดตรวจเลือด hiv antibody มาตรฐาน แม่นยำ 99.9% รู้ผล 5 นาที ผ่าน FDA ซึ่งสามารถตรวจเองได้ที่บ้านง่ายๆค่ะ เห็นมีโฆษณาออนไลน์ด้วยค่ะ

ดังนั้นหากคุณสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าคุณติดเชื้อ HIV หรือไม่ คุณควรไปตรวจเพื่อความสบายใจ และจะได้เตรียมตัวเตรียมใจ รับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีขึ้นค่ะ
หมายเหตุ*ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.oknation.net/

ตอบคำถาม ระยะอาการของเอดส์ HIV

เคยสงสัยมั๊ยว่าเอดส์หรือ HIV มีกี่ระยะ แต่ละระยะแสดงอาการแบบไหนบ้าง วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังกัน เพื่อให้ทุกคนพึงตระหนักถึงภัยจากเอดส์กันค่ะ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโรคเอดส์หรือ HIV เป็นภาวะภูมิคุ้มกันโรคบกพร่อง เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง
เรียกสั้น ๆ ว่า เชื้อ HIV (Human immunodeficiency virus.) คุณจะทราบว่าติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้โดยการตรวจเลือดค่ะ ซึ่งหากติดเชื้อ HIV จะมีอาการแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะอาการของเอดส์ HIV

ระยะที่ 1. ไม่มีอาการแสดงออกอะไรเลย ระยะนี้ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์จะยังมีสุขภาพแข็งแรงเป็น
ปกติหรืออาจมีอาการเป็นไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ เป็นครั้งคราว ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายเป็นไข้หวัด
ธรรมดา พอกินยาแก้ปวดลดไข้ก็ดีขึ้น แต่ไม่นานอาการก็กลับมารบกวนอีก

ระยะที่ 2. เป็นระยะเริ่มปรากฏอาการ ผู้ติดเชื้อเอดส์อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น เป็นไข้เรื้อรัง น้ำหนักลดแบบฮวบๆ มักมีอาการท้องเสียบ่อย อุจจาระร่วงเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองโต พบฝ้าขาวที่ลิ้น ในช่องปากและ
ลำคอ ซึ่งอาการแสดงเหล่านี้มักเกิดขึ้นเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น กินอาหารปรุงใหม่ๆ สะอาดๆ แต่กลับท้องเสียเฉยเลย เป็นต้น

ระยะที่ 3 คือระยะแสดงอาการของโรคเอดส์เต็มขั้น ระยะนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสียไปมาก จึงเกิดอาการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น โดยอาจมีอาการเหมือนระยะที่สอง และอาจเกิดการติดเชื้อของระบบอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีก เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือระบบประสาท ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการสมองเสื่อม หลงๆลืมๆ อาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือมะเร็งปากมดลูก และส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคเอดส์เมื่อมีอาการถึงระยะที่ 3 แล้ว อาจเสียชีวิตภายใน 2-5 ปี จากโรคติดเชื้อต่าง ๆ ที่รุมเร้าจนร่างกายไม่สามารถต่อสู้ไหวอีกต่อไป 

หากคุณหรือคนที่คุณรู้จักมีอาการดังกล่าวข้างต้น อย่าเพิ่งวิตกกังวลว่าคุณจะเป็นเอดส์นะคะ เพราะมีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ ทางที่ดีคุณควรไปพบแพทย์ หรือสถานบริการสาธารณสุข คลินิคนิรนามต่างๆเพื่อตรวจหาเชื้อเอดส์ให้แน่ใจก่อน ซึ่งก่อนการเจาะเลือดตรวจ ก็จะมีกระบวนการซักประวัติ และให้คำปรึกษาค่ะ
หมายเหตุ*ขอบคุณภาพประกอบจาก http://mpics.manager.co.th เรื่อง หยุดยาต้านเอดส์ เสี่ยงเชื้อดื้อยา

Tuesday, March 25, 2014

ตอบคำถาม วิธีป้องกันไม่ให้กลับไปติดยาเสพติดซ้ำอีก

จากบทความก่อนหน้า ที่ตอบคำถามเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัว และช่วยกันแก้ไขเมื่อคนในครอบครับติดยาเสพติด วันนี้หมอจะมาแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้กลับไปติดยาเสพติดซ้ำอีก

ถ้าคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวของเราเคยติดยาเสพติดมาแล้ว แม้ต่อมาจะได้รับการบำบัดรักษา จนเลิกยาได้แล้ว คนในครอบครัวก็ควรไว้วางใจแต่ก็อย่าชะล่าใจว่าเขาจะไม่กลับไปใช้ยาอีกนะคะ ควรเตรียมการป้องกันไม่ให้เขากลับไป ติดยาซ้ำอีก

วิธีป้องกันไม่ให้กลับไปติดยาเสพติดซ้ำอีก

โดยปรับสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยหรือวิถีการใช้ชีวิตไม่ให้เอื้อต่อการกลับไปติดยาอีก
หลีกเลี่ยงระวังไม่ให้กลับไปคบเพื่อนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
และคนในครอบครัวต้องให้ความรักความเข้าใจเขามาก ๆ ดูแลเขาอย่างใกล้ชิด
ที่สำคัญย้ำอีกครั้งว่าไม่ควรดุด่าว่ากล่าวหรือใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ
ไม่ควรพูดเสียดสีพาดพิง เย้ยหยันถึงสิ่งที่เขาได้ทำพลาดไปแล้วในอดีต

ให้โอกาสเขาได้กลับตัวกลับใจใหม่ เริ่มต้นชีวิตใหม่ เช่น กลับไปเรียนหนังสือ หรือกลับเข้าทำงาน
เมื่อชีวิตของเขามีความสุข และมีความหวังที่สดใส มีสังคมที่อบอุ่น มีครอบครัวที่ห่วงใยและเป็นกำลังใจ เขาก็คงไม่เลือกที่จะไปเดินทางผิด หรือหันไปใช้ยาเสพติดอีกอย่างแน่นอนค่ะ
หมายเหตุ*ขอบคุณภาพประกอบจาก https://www.wm.ktb.co.th/

ตอบคำถาม ถ้าคนใกล้ชิดติดยาบ้า ยาเสพติด จะทำอย่างไรดี

หลายคนกำลังวิตกกังวล หรือสงสัยว่า ถ้ามีคนในครอบครัวกำลังติดยา หรือติดสารเสพติด เราจะวางตัวยังไงดี และจะมีวิธีปฏิบัติหรือแก้ไขแบบไหนดี วันนี้หมอมีคำตอบค่ะ

           หากมีสมาชิกในครอบครัวหรือบุตรหลานที่รักติดยาเสพติด  ทุกคนในครอบครัวควรร่วมมือกันในการหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้ค่ะ

ถ้าคนใกล้ชิดติดยาบ้า ยาเสพติด จะทำอย่างไรดี

1. ควรบอกให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อทำความเข้าใจและหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ควรเก็บเป็นความลับค่ะ

2. ไม่ควรตำหนิติเตียนหรือดุด่า หรือใช้กำลัง ลงไม้ลงมือผู้ติดยาอย่างรุนแรง เพราะยิ่งคุณดุด่ามาก เท่าใด ก็ยิ่งทำให้เขาหนีห่างจากครอบครัว และยิ่งถลำลึกไปติดยาเสพย์ติดมากขึ้นเท่านั้น

3. ควรคอยปลอบโยน พูดจากับเขาดี ๆ โดยเฉพาะในเวลาที่เขาอารมณ์ดีพอจะรับฟังเหตุผลได้ ขอให้เขาเลิกใช้ยาบ้า ยาเสพติดต่างๆ เพื่ออนาคตของเขาและเพื่อคนในครอบครัวที่รักเขา

4. ข้อสุดท้าย หากคุณสามารถเกลี้ยกล่อมให้เขาตัดสินใจเลิกยาได้แล้ว คุณควรรีบพาเขาไปพบแพทย์ เพื่อทำการบำบัดรักษาและถ้าแพทย์ขอให้คุณปฏิบัติอย่างไร ในการช่วยเหลือคนติดยา คุณก็ควรให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แม้อาจจะยากลำบากและใช้เวลานานก็ตาม

ปัญหาการติดยาเสพติด หรือยาบ้า ไม่ใช่ปัญหาของผู้ติดยาเพียงคนเดียว แต่เป็นปัญหาของคน
ทั้งครอบครัวและสังคมที่ต้องร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขนะคะ ความรักและความไว้วางใจจากคนครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดค่ะ
หมายเหตุ*ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.tlcthai.com/
บทความถัดไปหมอจะมาเล่าวิธีป้องกันไม่ให้กลับไปติดยาซ้ำอีกคะ

Monday, March 24, 2014

ตอบคำถาม อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ติดยาเสพติด

พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายคนต้องทุกข์ใจอยู่ไม่น้อย เมื่อรู้ว่าบุตรหลานที่เราห่วงใย กำลังติดยาเสพติด หรือสารเสพติด วันนี้หมอจะมาตอบคำถามที่ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ติดยาเสพติด กันแน่ เพื่อเราจะได้เรียนรู้และหาทางป้องกันด้วยกัน ก่อนที่อะไรจะสายเกินไปค่ะ

สาเหตุที่ทำให้ติดยาเสพติด มีสาเหตุหลักๆดังนี้

1. เพื่อหนีความทุกข์ใจ เด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาในครอบครัว ขาดความรัก
ความอบอุ่น ครอบครัวแตกแยก หรือทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ ตลอดจนมี
ปัญหาในด้านการเรียน ปัญหา ความรัก จะส่งผลให้เด็กวัยรุ่นหาทางออกโดย
การใช้ยาเสพติด เพื่อระงับความทุกข์ใจที่เกิดขึ้น

2. ความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง บางคนลองเสพตามเพื่อน
เพราะกลัวเพื่อนไม่ให้เข้ากลุ่มด้วย ตลอดจนวัยรุ่นบางคนก็อาจลองเสพด้วย
ความคึกคะนอง อยากทดลองสิ่งใหม่ ๆ และคิดว่าตัวเองคงไม่ติดง่าย ๆ ซึ่งมัก
ส่งผลให้วัยรุ่นติดสารเสพติดได้ในเวลาต่อมา

3. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนติดยาหรือเป็นแหล่งที่มีการขาย
ยาเสพย์ติด ซึ่งการที่วัยรุ่นอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ทำให้เห็นว่าการใช้
ยาเสพย์ติดเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อวัยรุ่นถูกชักจูงให้ลองเสพยา ก็จะคล้อยตามได้
ง่าย หรือบางคนอาจลองเสพยาเสพติดเองเพราะเกิดความสงสัยว่า ยาเสพติด
จะช่วยให้เกิดความสนุกสนานได้อย่างไร

4. ถูกหลอกลวงให้ติดยาเสพย์ติด เนื่องจากสิ่งเสพย์ติดในปัจจุบันมักมี
มาในรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น เป็นลูกกวาดหรือท็อฟฟี่ เป็นแคปซูล เป็นต้น
ซึ่งกรณีนี้วัยรุ่นอาจไม่ทราบว่า สิ่งที่ตนเสพเป็นสิ่งเสพย์ติดชนิดร้ายแรง จึงทำให้
ลองกินเข้าไปจนกลายเป็นคนติดยาได้

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ติดยาเสพติด

        เมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครองรู้แล้วว่าสาเหตุอะไรบ้างที่มีส่วนผลักดันให้วัยรุ่นลูกหลานเราติดสารเสพติด
คุณและคนในครอบครัวจึงควรร่วมมือกันป้องกันไม่ให้ลูกหลานติดยา โดย
คุณต้องให้ความรัก ความอบอุ่นให้ความเป็นกันเองกับลูกหลาน เพื่อเขาจะได้
กล้าเข้ามาขอรับคำปรึกษายามที่เขาต้องเผชิญกับปัญหา ที่แก้ไม่ตก ตลอดจน
คุณจะต้องทำความรู้จักกับเพื่อนของเขาด้วย เพื่อที่คุณจะได้ทราบว่าเพื่อนของ
เขาเป็นคนอย่างไร มีพฤติกรรมเป็นอย่างไร เพราะเด็กที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นมักจะติด
เพื่อน และชอบทำอะไรเลียนแบบเพื่อน เชื่อฟังเพื่อนมากกว่าคนในครอบครัว
หากคุณสังเกตพบว่า ลูกวัยรุ่นของคุณเข้าข่ายเสี่ยงต่อการติดยาเสพย์ติด
คุณควรใจเย็น ๆ ไว้ก่อน อย่าไปดุด่าตบตี ลงไม้ลงมือกับลูกนะคะ ค่อย ๆ พูดคุยกับลูกเพื่อช่วยกันหาทาง
แก้ไขปัญหาจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดคะ ช่วยๆกันนะคะ.
หมายเหตุ*ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.patrolnews.net

Wednesday, March 12, 2014

วิธีสังเกตคนติดยาเสพติด มีลักษณะดังต่อไปนี้

ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าคนที่คุณรู้จัก หรือคนที่คุณรักกำลังติดสารเสพติด หรือติดยาเสพติดอยู่หรือไม่ วันนี้เรามีวิธีสังเกตพฤติกรรม ลักษณะที่น่าสงสัยมาให้ท่านลองนำไปสังเกตคนรอบข้างดูกันค่ะ

อาการที่บ่งบอกว่าบุคคลใดติดยามีดังนี้ คือ
1. บุคคลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ถ้าเป็นวัยรุ่นก็อาจเริ่มไม่
อยากไปโรงเรียน หนีเรียน ผลการเรียนแย่ลงหรือถ้าเป็นบุคคลที่อยู่ในวัยทำงาน
ก็จะส่งผลให้การทำงานแย่ลงหรือไม่ยอมไปทำงานเลย
2. มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางหงุดหงิด ก้าวร้าว ชอบทะเลาะ
วิวาทและทำร้ายผู้อื่น หรือในทางกลับกัน บางคนจะมีอาการซึมเศร้า
เหงาหงอย เก็บตัว แยกตัวจากสังคม และคอยหลบหน้าตาคนในครอบครัว
3. เริ่มไม่ใส่ใจการแต่งกาย ปล่อยผมรุงรัง สกปรก ใส่เสื้อแขนยาว
ตลอดเวลาเพื่อปกปิดรอยเข็มฉีดยา หรือใส่แว่นตาดำเพื่อซ่อนแก้วตาที่วาวเปิด
กว้างหรือริบหรี่
4. มียาหรืออุปกรณ์แปลก ๆ สะสมไว้ เช่น มีเม็ดยาแคปซูล มีทินเนอร์
หรือกาว มีถุงพลาสติกที่ทากาวได้ มีผ้าชุบทินเนอร์ และทากาวไว้เป็นจำนวน
มาก มีขวดยาแก้ไอที่มีสารจำพวกฝิ่นผสมอยู่ หรืออาจพบช้อนที่หักงอ กระบอก
ฉีดยา กระดาษตะกั่ว หลอดกาแฟ เป็นต้น
5. ใช้เงินเปลือง เป็นหนี้เป็นสินเพื่อน ๆ เพื่อหาเงินไปซื้อยาเสพย์ติด
หรือขโมยของในบ้านไปขายเพื่อหาเงินมาเสพยา ตลอดจนติดต่อกับเพื่อนแปลก
หน้าที่มีพฤติกรรมผิดปกติ
วิธีสังเกตคนติดยาเสพติด

ถ้าคุณสังเกตพบว่า คนใกล้ชิดของคุณมีพฤติกรรมดังกล่าว คุณต้อง
พยายามทำความเข้าใจว่าเขาคนนั้นกำลังมีปัญหาอย่าดุด่าว่ากล่าวหรือตำหนิ
ติเตียนอย่างรุนแรงจะเหมือนผลักไสเขาให้ใช้ยาเสพย์ติดมากขึ้น คุณควรช่วยเขา
แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ช่วยปลอบใจ ให้กำลังใจ และชักชวนให้ไปบำบัดรักษา
และถ้าคุณต้องการปรึกษาเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ลองโทรไปปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่งได้ทันทีค่ะ เพราะปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านนี้ทุกสถานพยาบาลค่ะ อย่าลืมนะคะ ทุกปัญหามีทางออกค่ะ
หมายเหตุ*ขอบคุณภาพประกอบจาก http://ntsinw.com/